วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เด็กพิเศษ

เด็กพิเศษ

เด็กพิเศษ  เริ่มเป็นคำที่คุ้นหูมากขึ้นในปัจจุบัน หลายคนอาจสงสัยว่าพวกเขาคือใคร และเด็กแบบไหนหรือที่เป็นเด็กพิเศษ เด็กกลุ่มนี้มีความสำคัญอย่างไร
เด็กพิเศษ เริ่มได้รับความสนใจ และการดูแลช่วยเหลืออย่างจริงจัง มาเมื่อไม่นานนี้ ทั้งๆ ที่เด็กกลุ่มนี้มีมานานแล้ว เมื่อกล่าวถึงเด็กพิเศษ แต่ละคนก็มักมีความเข้าใจที่แตกต่างกันไป บางคนนึกถึงเด็กที่มีความสามารถพิเศษ บางคนนึกถึงเด็กที่มีความบกพร่อง
เด็กพิเศษ มาจากคำเต็มว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษหมายถึงเด็กกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล ช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพิ่มเติมจากวิธีการตามปกติ ทั้งในด้าน การใช้ชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ และการเข้าสังคม เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพของเขาเอง โดยออกแบบการดูแล ช่วยเหลือเด็ก ตามลักษณะความจำเป็น และความต้องการของเด็กแต่ละคน
เด็กพิเศษ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้
1.            เด็กที่มีความสามารถพิเศษ
2.            เด็กที่มีความบกพร่อง
3.            เด็กยากจนและด้อยโอกาส
เด็กแต่ละกลุ่ม มีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษเหมือนกัน แต่ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน ตามความเหมาะสมของเด็กแต่ละกลุ่ม แต่ละคน ในบทความนี้จะกล่าวถึงขอบเขตของเด็กพิเศษ แต่ละกลุ่มว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
1 ) เด็กที่มีความสามารถพิเศษ
เด็กกลุ่มนี้มักไม่ค่อยได้รับการดูแล ช่วยเหลืออย่างจริงจัง เนื่องจาก เรามักคิดว่าพวกเขาเก่งแล้ว สามารถเอาตัวรอดได้ บางครั้งกลับไปเพิ่มความกดดันให้มากยิ่งขึ้น เพราะคิดว่าพวกเขาน่าจะทำได้มากกว่าที่เป็นอยู่อีก วิธีการเรียนรู้ในแบบปกติทั่วไป ก็ไม่ตอบสนองความต้องการในเรียนรู้ของเด็ก ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ทำให้ความสามารถพิเศษที่มีอยู่ไม่ได้แสดงออกอย่างเต็มศักยภาพ
เด็กที่มีความสามารถพิเศษ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ดังนี้
1.             เด็กที่มีระดับสติปัญญาสูง คือ กลุ่มเด็กที่มี ระดับสติปัญญา (IQ) ตั้งแต่ 130 ขึ้นไป
2.             เด็กที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน อาจไม่ใช่เด็กที่มีระดับสติปัญญาสูง แต่มีความสามารถพิเศษเฉพาะด้านที่โดดเด่นกว่าคนอื่นในวัยเดียวกัน อาจเป็นด้าน คณิตศาสตร์ - ตรรกศาสตร์ การใช้ภาษา ศิลปะ ดนตรี กีฬา การแสดง ฯลฯ
3.             เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์
2) เด็กที่มีความบกพร่อง
มีการแบ่งหลายแบบ ในที่นี้จะยึดตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ ที่แบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม ดังนี้
1.            เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น
2.            เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
3.            เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา
4.            เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือสุขภาพ
5.            เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual Deficiency)
6.            เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ (Learning Disabilities)
7.            เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์
8.            เด็กออทิสติก (รวมถึงความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้านอื่นๆ )
9.            เด็กที่มีความพิการซ้อน
3 ) เด็กยากจนและด้อยโอกาส
คือเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะยากจน ขาดแคลนปัจจัยที่จำเป็นในการเจริญเติบโตและการเรียนรู้ของเด็ก และรวมถึงกลุ่มเด็กที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาจากสาเหตุอื่นๆ เช่น เด็กเร่ร่อน เด็กถูกใช้แรงงาน เด็กต่างด้าว เป็นต้น
เด็กกลุ่มต่างๆที่กล่าวถึง เป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ควรได้รับการดูแลเพิ่มเติมด้วยวิธีการพิเศษ ซึ่งต่างไปจากวิธีการตามปกติ เพื่อช่วยให้สามารถพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ได้ เพื่อให้มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี มีโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม และได้รับการยอมรับในสังคม
การศึกษาพิเศษ (Special Education)
การศึกษาพิเศษ หมายถึง การสอนพิเศษสำหรับเด็กที่มีลักษณะแตกต่างไปจากเด็กปกติทั่วไป แต่ไม่ใช่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรทั่วๆ ไปของการศึกษาการศึกษาพิเศษอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงชั้นเรียนปกติเพียงเล็กน้อย สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดและสิ่งที่โรงเรียนแต่ละแห่งจะต้องทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือ เด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้จะต้องได้เรียนกับเด็กปกติและเรียนในชั้นเรียนพิเศษ การเรียนในชั้นเรียนพิเศษอาจใช้เวลาเพียงแค่ครึ่งชั่วโมง หรือหนึ่งชั่วโมงต่อวันเท่านั้น กรณีที่เด็กมีความบกพร่องในการเรียนรู้เล็กน้อย ให้การช่วยเหลือเพียงเล็กน้อย แต่เด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ระดับปานกลางอาจจะต้องอยู่ในชั้นเรียนพิเศษเป็นเวลา 1-3 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนเด็กที่อยู่ในชั้นเรียนพิเศษเป็นส่วนใหญ่ คือ 4-6 ชั่วโมง จะเป็นกลุ่มที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ระดับรุนแรงซึ่งมีไม่มากนัก เราพบว่าเด็กปกติจะไม่ถูกกระทบกระทั่งเลยถึงแม้จะมีเด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้เรียนอยู่ในชั้นเรียนเดียวกันกับเขา และในชั้นเรียนปกติก็จะช่วยเด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ได้มากเพราะเด็กจะพยายามตามให้ทันเพื่อน ทำให้เขาอยากทำให้ดีขึ้น
มีคำถามว่าเราจะบอกเด็กปกติอย่างไรว่ามีเด็กพิเศษเรียนร่วมกับเขา และทำไมเด็กเหล่านี้จึงมีหลายๆ อย่างไม่เหมือนกับเขา ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้เด็กปกติและเด็กพิเศษได้เรียนรู้ร่วมกันได้และมีทัศนคติที่ดีต่อกัน สิ่งเหล่านี้เราสามารถทำได้ คือ การพูดคุยกับชั้นเรียน โดยขอให้เด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ออกจากห้องเรียนก่อน และพูดคุยให้เขามีความรู้ในเรื่องของเด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหา หรืออาจให้เขาอ่านข้อความในกระดาษแล้วถามว่าข้อความยากไหม เด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้จะอ่านได้ยากกว่านี้อีก ซึ่งจะทำให้เขาเข้าใจและมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ เพราะถ้าเขาไม่รู้ ไม่เข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจก็อาจจะไม่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรจัดเด็กเข้ามาอยู่ในชั้นเรียนพิเศษตลอดไป เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ไม่ดี การจะต้องแยกเด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ออกจากชั้นเรียนปกตินั้น จะเกิดขึ้นเมื่อจำเป็นจริงๆ คือ เกิดความรุนแรงของความบกพร่องนั้น ซึ่งถึงแม้จะช่วยด้วยการเรียนรู้ เพิ่มเติมในชั้นเรียนปกติ แล้วก็ไม่สามารถเรียนรู้ได้ผล
สิ่งที่เราพบในประเทศสหรัฐอเมริกา คือ เราพยายามที่จะทำงานกับเด็กพิเศษเหล่านี้ ดึงเขาออกมาและจัดให้เขาเข้าไปอยู่ในชั้นเรียนพิเศษ แต่เราปล่อยเขาไว้ในชั้นเรียนพิเศษนานเกินไปโดยไม่ได้กำหนดว่าเมื่อไรจึงจะมีการปรับเปลี่ยนให้เขากลับเข้ามาเรียนในชั้นเรียนปกติบ้าง ซึ่งปัจจุบันกฎหมายของประเทศได้ปรับเปลี่ยนว่าเราไม่ควรทำเช่นนั้นอีกต่อไป
เป็นที่น่าสนใจว่าโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาที่รัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดให้เด็กที่มีภาวะปัญญาอ่อนระดับปานกลางเรียนอยู่ในชั้นเรียนปกติ ซึ่งก็ทราบว่าเด็กเหล่านี้เรียนในชั้นเรียนปกติไม่ได้ แต่โรงเรียนก็ต้องการให้เรียนอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน เพื่อที่จะรับประทานอาหารที่เดียวกัน ใช้บริเวณโรงเรียนเดียวกัน และเด็กปกติคนอื่น ๆ จะได้เห็นว่าเด็กที่มีภาวะปัญญาอ่อนระดับปานกลางมีลักษณะอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเด็กปกติที่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้
เมื่อประมาณ 15-20 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เราทำคือ เราจัดเด็กที่มีภาวะปัญญาอ่อนระดับปานกลางให้อยู่ในสถาบันที่บำบัดเฉพาะทาง หรืออาจจะต้องอยู่ที่บ้านหรือโรงพยาบาลทั้งที่เขาไม่ได้ป่วยเป็นโรคจิต ซึ่งเราได้เรียนรู้ว่าไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับเด็กเหล่านั้น เพราะฉะนั้นปัจจุบันจึงมีน้อยมากที่เด็กเหล่านี้จะอยู่ในสถาบันทางด้านจิตเวช ยกเว้นเด็กที่มีปัญหาทางด้านจิตเวชหรือภาวะปัญญาอ่อนระดับรุนแรงมากจริงๆ เท่านั้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น